แมคโดนัลด์ เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเครือร้านอาหารจานด่วนที่ใหญ่ที่สุดในโลกปัจจุบันมีสาขามาก
ที่สุดถึง 31,000 สาขา และมีจำนวนพนักงานเกือบ 400,000 คน และโดยเฉลี่ยแล้วในหนึ่งวัน มีจำนวนประชากรโลกบริโภคผลิตภัณฑ์ของร้านแมคโดนัลด์เกือบ 50 ล้านคน
รายการอาหารหลักของแมคโดนัลด์ที่ขายทั่วไปคือ แฮมเบอร์เกอร์ ชีสเบอร์เกอร์ เฟนซ์ฟราย ไก่ทอด สลัด ชุดอาหารเช้า และของหวานอีกหลายชนิดอย่างเช่นไอศกรีม
รายการอาหารหลักของแมคโดนัลด์ที่ขายทั่วไปคือ แฮมเบอร์เกอร์ ชีสเบอร์เกอร์ เฟนซ์ฟราย ไก่ทอด สลัด ชุดอาหารเช้า และของหวานอีกหลายชนิดอย่างเช่นไอศกรีม
ใครจะรู้บ้างผู้บุกเบิก "แมคโดนัลด์" ก่อนจะประสบความสำเร็จต้องผ่าน "ความล้มเหลว" มากว่าครึ่งชีวิต
เรย์ คร็อก มีชื่อจริงว่า เรย์มอนด์ อัลเบิร์ต คร็อก เกิดเมื่อวันอาทิตย์ ที่ 5 ตุลาคม ค.ศ. 1902 เมืองชิคาโก้ มลรัฐอิลลินอยส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาเป็นคนอเมริกันเชื้อสายเช็ก เพราะทั้งพ่อและแม่ของเขาคือ ลูอิส และโรส คร็อก เป็นคนที่มีเชื้อสายเช็กที่อพยพมาอยู่ที่เมืองชิคาโก้ในอิลลินอยส์ เรย์ คร็อก มีพี่น้อง 2 คน
ครอบครัวของเรย์ คร็อก มีฐานะไม่ได้ดีนัก เขาเรียนหนังสือที่โรงเรียนรัฐบาลที่ชื่อ Oak Park River Forest High School และเขาได้ลาออกจากโรงเรียนตั้งแต่ชั้นมัธยมต้นซึ่งเป็นการศึกษาขั้นสูงที่สุดในชีวิตของเขาแล้วเพราะต้องการที่จะเข้าร่วมกับหน่วยกาดชาดของอเมริกาในช่วงที่สงครามโลกครั้งที่ 1 เริ่มต้นขึ้น
ค.ศ. 1917 เรย์ คร็อกในวัย 15 ปี ได้สมัครเข้าเป็นส่วนหนึ่งของหน่วยงานกาชาด โดยเขาได้ถูกส่งตัวไปที่มลรัฐคอนเน็ตติกัตเพื่อรับการฝึกให้เป็นคนขับรถพยาบาล เพื่อจะถูกส่งตัวไปที่ยุโรป แต่สงครามโลกครั้งที่ 1 ก็สิ้นสุดลงก่อนที่เขาจะได้ไปปฏิบัติงานจริงที่ยุโรป ดังนั้นเขาจึงต้องหางานอื่นทำแทน
หลังจากที่เขาแต่งงานในปี ค.ศ. 1922 เขาก็เปลี่ยนอาชีพมาเป็นพนักงานขายหรือเซลส์แมนขายถ้วยกระดาษให้แก่บริษัท Lily Tulip Cup Co. ซึ่งถ้วยกระดาษถือว่าเป็นของใหม่ในขณะนั้น ซึ่งในระหว่างที่เขาทำงานเป็นเซลส์แมนขายถ้วยกระดาษนั้นจะตระเวนขายในตอนกลางวัน ส่วนในตอนกลางคืนเขาจะทำงานเล่นเปียโนให้กับสถานีวิทยุในเมืองชิคาโก้ แต่ในไม่ช้าไม่นานเขาก็เลิกอาชีพการเป็นเซลส์แมนขายถ้วยกระดาษมาเป็นผู้อำนวยการดนตรีให้กับสถานีวิทยุในชิคาโก้เต็มตัว ทั้งจ้างนักดนตรี หรือเล่นดนตรีคลอไปกับนักร้อง ซึ่งความต้องการในส่วนลึกของเขาไม่ได้รับการเติมเต็มจากการทำอาชีพแบบนี้
ต่อมา ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ได้เกิดเฟื่องฟูขึ้นมาที่มลรัฐฟลอริด้า ดังนั้น เรย์
คร็อก จึงเปลี่ยนอาชีพมาเป็นเซลส์แมนขายอสังหาริมทรัพย์ต่างๆ ที่เมืองฟอร์ท ลอเดอร์เดล แต่ธุรกิจนี้ก็ซบเซาไปในปี ค.ศ. 1926 และทำให้เขาต้องมาเล่นเปียโนในไนท์คลับตอนกลางคืนและส่งภรรยาและลูกสาวกลับไปอยู่ที่ชิคาโก้ตามเดิมโดยทางรถไฟ และต่อมาเขาก็กลับชิคาโก้ตามภรรยาและลูกสาวไป และได้กลับมาทำงานเป็นเซลส์แมนที่บริษัท Lily Tulip Cup Co. เช่นเดิม และต่อมาก็กลายเป็นผู้จัดการขายในเขตภาคตะวันตกของสหรัฐอเมริกา
หลังจากที่ทำมาหลายอาชีพเขาก็มาลงเอยที่การเป็นเซลส์แมนขายเครื่องผสมนมปั่น ที่สามารถปั่นนมปั่นหรือมิล์คเชกได้คราวละ 5 ถ้วย และอาชีพนี้ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตเขา โดยเขาได้ตัดสินใจที่จะเปลี่ยนมาทำอาชีพนี้ก็เนื่องจากว่าในระหว่างที่เขาได้เข้าอบรมการขายถ้วยกระดาษเมื่อปี ค.ศ. 1937 เขาก็ได้พบกับเอิร์ล พรินซ์ ซึ่งเป็นผู้ประดิษฐ์เครื่องปั่นนมปั่นที่เรียกว่า “multi-mixer” เพราะเขาเข้ามาสั่งซื้อถ้วยกระดาษของบริษัทเป็นจำนวนหนึ่งคันรถ
เรย์ คร็อก รู้สึกทึ่งกับประสิทธิภาพและความรวดเร็วของเครื่องปั่นมาก จึงได้ตั้งบริษัทเป็นของตัวเองเพื่อเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าตัวนี้เมื่อปี ค.ศ. 1941 ซึ่งนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาเป็นระยะเวลายาวนานถึง 17 ปี ที่เรย์ คร็อก ต้องเดินทางไปทั่วประเทศสหรัฐอเมริกาเพื่อเสนอขายเจ้าเครื่องผสมนมปั่น ไปตามร้านอาหารและร้านกาแฟ และในขณะเดียวกันเขาก็คอยสังเกตการณ์ดำเนินกิจการของร้านเหล่านี้ และสิ่งที่เขาพบก็คือร้านอาหารหลายร้านมีการจัดการที่แย่มากจึงทำให้กิจการของร้านเหล่านั้นไม่ค่อยดีนัก
และอาชีพนี้ก็ทำให้เขารู้จักสองพี่น้องแห่งตระกูลแมคโดนัลด์ คือดิ๊กและก็แม็ค ซึ่งได้เปิดร้านอาหารแมคโดนัลด์ที่เมืองซานเบอร์นาร์ดิโน ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย และร้านแมคโดนัลด์นี้ก็ขายดิบขายดีเป็นเทน้ำเทท่าจนต้องขยายสาขาไปอีกถึง 4 สาขาในปี ค.ศ. 1953 จุดแรกเริ่มของแมคโดนัลด์ในขณะนั้นจะเป็นบริการแบบ Drive Trough คือขับรถเข้าไปซื้อที่ช่องสั่งอาหาร ซึ่งสอดคล้องกับวิถีชีวิตแบบอเมริกันในวันนั้น จึงไม่ต้องใช้พื้นที่ร้านขนาดใหญ่มาก แต่เน้นที่วิธีการผลิตที่รวดเร็ว
ร้านของสองพี่น้องคู่นี้นอกจากจะขายแฮมเบอร์เกอร์และเฟรนซ์ฟรายแล้วก็ยังขายนมปั่นอีกด้วย ดังนั้นเรย์ คร็อก จึงต้องมารู้จักพี่น้องคู่นี้ในฐานะที่เขาเป็นเซลส์แมนขายเครื่องผสมนมปั่นเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค.ศ. 1954 โดยสองพี่น้องได้สั่งซื้อเครื่องปั่นจากเขาเป็นจำนวน 8 เครื่อง ทั้งๆ ที่แต่ละเครื่องนั้นก็สามารถทำมิลค์เชคได้พร้อมๆ กัน ทีละ 5 แก้วอยู่แล้ว แสดงว่าร้านนี้ต้องทำมิลค์เชคพร้อมๆ กันในเวลาเดียวถึง 40 แก้ว เขารู้สึกว่าร้านนี้ต้องขายดีแน่ๆ และเขารู้สึกประทับใจกับระบบความรวดเร็วในการให้บริการของสองพี่น้องแมคโดนัลด์มาก ทั้งๆ ที่อาหารก็เป็นเมนูพื้นๆ ราคาถูกอย่าง แต่ความพิเศษอยู่ตรงที่ร้านของสองพี่น้องนี้สามารถเสิร์ฟอาหารให้แก่ลูกค้าเป็นจำนวนมากภายในเวลาอันรวดเร็ว อาหารทุกชิ้นล้วนแต่มีคุณภาพและรสชาติอร่อยเหมือนกันหมด จึงทำให้มีลูกค้ามากมายมาทานอาหารในร้านนี้ เพราะสิ่งที่เขาพบก็คือร้านที่เต็มไปด้วยผู้คนในท้องถิ่นพากันมาซื้อแฮมเบอร์เกอร์ที่ร้านเล็กๆ แต่บริการได้อย่างรวดเร็ว
เรย์ คร็อก มองเห็นลู่ทางอันสดใสในการขายเครื่องผสมนมปั่นเขาเชื่อว่าเขาสามารถขายเครื่องผสมนมปั่นนี้ได้มากขึ้นตามจำนวนการเปิดร้านแมคโดนัลด์สาขาใหม่ๆ ที่เปิดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆเขาจึงแนะนำให้สองพี่น้องเปิดสาขาของร้านแมคโดนัลด์ให้ทั่วประเทศ แต่สองพี่น้องไม่ต้องการคิดการณ์ใหญ่เพราะไม่อยากรับภาระหนักในการขยายกิจการ และด้วยความทะเยอทะยานอยากประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น บวกกับวิสัยทัศน์และสัญชาติญาณในการเป็นนักขาย ดังนั้น เรย์ คร็อก จึงขอร่วมลงทุนเป็นหุ้นส่วนกับสองพี่น้องแมคโดนัลด์เพื่อเข้ามาบริหารงานและเปิดร้านแมคโดนัลด์สาขาใหม่ๆ โดยเขาได้ยื่นขอเสนอว่าขอให้สองพี่น้องนี้ยินยอมให้เขาเปิดสาขาของร้านแมคโดนัลด์ในที่รัฐอื่นๆ ที่ไม่ใช่ที่ตั้งของร้านแม่ที่เปิดแล้วในแคลิฟอร์เนียและอริโซน่า และสองพี่น้องต้องยินยอมให้เขาเป็นผู้ที่ได้รับสิทธิ์ในการเปิดสาขาอื่นเป็นคนแรก ซึ่งเขาจะจ่ายค่าตอบแทนในการเปิดสาขาเป็นเงิน 0.5% ของรายได้ทั้งหมดให้แก่สองพี่น้อง โดยเขาจะได้รับส่วนแบ่งจำนวน 1.4% ของรายรับจากร้านแฟรนไชส์เท่านั้น
ในช่วงเวลานั้น เรย์ คร็อกอยู่ในวัย 52 ปีแล้ว ซึ่งถือว่าอายุไม่น้อยแล้ว แถมยังมีโรคประจำตัวหลายโรค เช่น เบาหวาน และเริ่มเป็นโรคไขข้ออักเสบ แต่เขาก็มีความหวังที่สดใสต่อหนทางข้างหน้า และยังหวังที่จะประสบความสำเร็จ
เรย์ คร็อก มุมานะอย่างหนักในการขยายสาขาของร้านแมคโดนัลด์ เป้าหมายแรกของเขาคือวอลท์ ดิสนีย์ ซึ่งเป็นคนที่เขารู้จักในช่วงสงครามในระหว่างที่เขาไปฝึกเป็นคนขับรถพยาบาลของหน่วยกาชาดที่คอนเน็ตติกัต ซึ่งวอลท์ ดิสนีย์ ก็ได้ไปทำการฝึก ณ ที่นั้นเช่นเดียวกัน เขาส่งจดหมายไปหาวอลท์ ดิสนีย์ในปี ค.ศ. 1954 เพื่อพยายามโน้มน้าวให้วอลท์ ดิสนีย์ ยินยอมให้เขาเปิดร้านแมคโดนัลด์ในดิสนีย์แลนด์ที่กำลังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างอยู่และจะเปิดทำการในไม่ช้า แต่ความหวังอันนี้ของเขาก็ล้มเหลวเพราะเขาไม่เคยได้รีบจดหมายตอบกลับมา
ในปี ค.ศ. 1955 เรย์ คร็อกในวัย 52 ปี ได้นำกิจการแมคโดนัลด์ให้อยู่ในรูปแบบของบริษัทขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 2 มีนาคม ซึ่งในตอนนั้นมีชื่อบริษัทว่า “McDonald’s Systems, Inc.” เขาได้เปิดร้านแมคโดนัลด์เป็นสาขาที่ 9 ที่เขตเดสเพลนส์ ซึ่งเป็นเขตชานเมืองของชิคาโก้ ในมลรัฐอิลลินอยส์ เมื่อวันที่ 15 เมษายน รายได้ ณ วันแรกของร้านแมคโดนัลด์สาขานี้อยู่ที่ 366.12 ดอลลาร์สหรัฐฯ ทั้งๆ ที่วันนั้นมีฝนตกลงมาอย่างหนัก ซึ่งถือว่าเป็นร้านแมคโดนัลด์สาขาแรกที่เขาเปิดด้วยตัวของเขาเอง
ในเดือนกรกฎาคม เรย์ คร็อก ก็เปิดร้านแมคโดนัลด์สาขาที่ 2 ของเขาที่เมือง
เฟรสโน (Fresno) ในมลรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งสาขานี้ดำเนินการโดยอาร์ท เบนเดอร์ (Art Bender) ซึ่งถือว่าเป็นแฟรนไชส์ย่อยคนแรกของเรย์ คร็อก ดังนั้น ร้านแมคโดนัลด์สาขาเฟรสโนจึงถือว่าเป็น “ร้านแมคโดนัลด์แฟรนไชส์แรกหรือสาขาแรกของเรย์ คร็อก”
ในปี ค.ศ. 1955 เรย์ คร็อก ได้ว่าจ้างลูกจ้างหลายคนเพื่อมาทำงานในบริษัท ซึ่งลูกจ้างเหล่านี้ต่อมาได้กลายเป็นคนสำคัญของบริษัท อาทิ แฮร์รี่ เจ ซอนเนบอร์น ที่ถูกจ้างมาให้เป็นหัวหน้าหน่วยการเงิน และเขาได้กลายเป็นบุคคลสำคัญของบริษัทแมคโดนัลด์จนกระทั่งเขาลาออกไปในปี ค.ศ. 1967 และเรย์ คร็อก ยังได้ว่าจ้างให้เฟร็ด เทอร์เนอร์ ให้มาเป็นคนดูแลการย่างเนื้อในร้านแมคโดนัลด์สาขาเดสเพลนส์ ซึ่งต่อมาเทอร์เนอร์ก็ได้ดิบได้ดีกลายเป็นประธานกรรมการบริหารและประธาน ของบริษัท
เรย์ คร็อก ได้ขยายแฟรนไชส์หรือสาขาของร้านแมคโดนัลด์ออกไปเรื่อยๆ ภายในระยะเวลาเพียง 4 ปี ก็สามารถขยายกิจการได้ถึงร่วมร้อยสาขา และมีการขยายสาขาออกไปยังต่างประเทศอีกด้วย ทั้งยังมีการโฆษณาตามแผ่นป้ายโฆษณาอีกด้วย เขาได้ใช้ทักษะในการเป็นนักจัดการและนักขายในการขยายสาขาแฟรนไชส์ออกไปทั่วอเมริกา โดยยังได้ตั้งบริษัทอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อที่ดินไว้ก่อนแล้วให้แฟรนไชส์ร้านแมคโดนัลด์ต่างๆ ที่ขยายออกไปนั้นเช่าที่ของตนอีกที เป็นการทำรายได้สามต่อในคราวเดียว คือทั้งขายแฟรนไชส์, ขายเครื่องปั่นมิลค์ เชค และให้เช่าที่ดิน และในปี ค.ศ. 1960 เรย์ คร็อก ได้เปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่ จาก “McDonald’s Systems, Inc.” เป็น “McDonald’s Corporation”
แต่ต่อมาเรย์ คร็อก ก็รู้สึกอึดอัดกับความตั้งใจของสองพี่น้องที่ต้องการจะเปิดสาขาร้านแมคโดนัลด์เพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้น เพราะพวกเขาไม่ต้องการที่จะขยายสาขาเพิ่มไปมากกว่านี้ ดังนั้นในปี ค.ศ. 1961 เรย์ คร็อก จึงตัดสินใจซื้อสิทธิ์ในกิจการบริษัทแมคโดนัลด์จากสองพี่น้องแมคโดนัลด์ด้วยเงินจำนวน 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเงินจำนวน 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นี้เป็นเงินที่เรย์ คร็อก ได้ยืมมาจากนักลงทุนจำนวนหลายคน และเขาถือว่าเงินจำนวนนี้มันมากเกินไป ซึ่งก็ได้ทำให้ความสัมพันธ์ของเขากับสองพี่น้องแมคโดนัลด์อยู่ในภาวะตึงเครียด
ในข้อตกลงระหว่างเขากับสองพี่น้องแมคโดนัลด์นั้น นอกจากเงินที่ซื้อกิจการจำนวน 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แล้วสองพี่น้องคู่นี้ยังจะได้เงินค่าสิทธิตอบเนื่องเป็นเงินตอบแทนเป็นอัตราจำนวน 1% ของยอดขายก่อนหักส่วนลด แต่พอเวลาจะยุติข้อตกลงสองพี่น้องก็เกิดเปลี่ยนใจและต้องการที่จะรักษาร้านแมคโดนัลด์ร้านแรกของพวกเขาไว้ ดังนั้นพวกเขาจึงได้บอกแก่เรย์ คร็อก ว่าพวกเขาได้ให้อสังหาริมทรัพย์ การบริหารงาน และสิทธิ์ต่างๆ ของร้านแมคโดนัลด์ร้านแรกดั้งเดิมของพวกเขาแก่ลูกจ้างที่ร่วมก่อตั้งกับพวกเขาแล้ว ทำให้เรย์ คร็อก โกรธมากที่สองพี่น้องไม่ยอมมอบร้านสิทธิในร้านดั้งเดิมแก่เขา เขาจึงปิดข้อตกลงซื้อขายและปฏิเสธที่จะยอมรับการจ่ายค่าตอบแทน 1% ของยอดขายก่อนหักส่วนลดโดยให้เหตุผลว่ามันไม่ได้ถูกเขียนไว้ในข้อตกลง
ด้วยเหตุนี้ สองพี่น้องตระกูลแมคโดนัลด์ก็ยังเหลือร้านแมคโดนัลด์ร้านดั้งเดิมที่พวกเขาก่อตั้งกันมา แต่พวกเขาสูญเสียที่จะรักษาสิทธิ์แฟรนไชส์ของแมคโดนัลด์ไป ดังนั้นจึงต้องเปลี่ยนชื่อร้านใหม่ว่าเป็น “The Big M” ต่อมาร้าน “The Big M” ของสองพี่น้องนี้ก็ได้ปิดตัวไปอย่างถาวรในปี ค.ศ. 1964 ซึ่งถ้าสองพี่น้องนี้ได้รักษาข้อตกลงแรกที่ทำกับเรย์ คร็อก ที่จะให้ค่าตอบแทนประจำปีของการเปิดสาขาแล้ว พวกเขาหรือทายาทของพวกเขาจะได้เงินตอบแทนเป็นจำนวนเกินกว่า 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปีในปัจจุบัน
เมื่อแมคโดนัลด์มีสาขารวมแล้วกว่า 300 สาขาทั่วอเมริกา จึงได้มีการตั้งมหาวิทยาลัยแฮมเบอร์เกอร์ขึ้นมา ที่ Elk Grove Village ในมลรัฐ Illinois เพื่อสอนให้กับเจ้าของร้านแฟรนไชส์ในการเปิดร้านแมคโดนัลด์ โดยเน้นไปที่มาตรฐานของสินค้า สถานที่ ราคา และโปรโมชั่น
เจ้าของร้านแมคโดนัลด์ที่ซื้อแฟรนไชส์ไปจากเขานั้นจะต้องมีคุณสมบัติเป็น “เซลส์แมนมากกว่าที่จะเป็นนักบัญชีหรือแม้กระทั่งพ่อครัว” และเจ้าของร้านแฟรนไชส์แมคโดนัลด์เหล่านี้จะต้องถูกฝึกอย่างเข้มข้นจาก “Hamburger University” ของแมคโดนัลด์ ในมลรัฐอิลลินอยส์ ซึ่งผู้ที่ฝึกจะได้รับ “ปริญญาตรีเอกแฮมเบอร์เกอร์วิทยาและโทสาขาเฟรนซ์ฟราย” และบริษัทยังมีคู่มือเล่มหนาซึ่งระบุการดำเนินกิจการทุกๆ ด้านในการเปิดร้านแมคโดนัลด์ตั้งแต่กรรมวิธีทำนมปั่นจนกระทั่งถึงการตอบสนองต่อชุมชน
ในราวปี ค.ศ. 1963 ร้านแมคโดนัลด์ขายแฮมเบอร์เกอร์ไปแล้วมากกว่า 1 พันล้านชิ้น และร้านแมคโดนัลด์ได้เปิดสาขาไปแล้วถึง 500 สาขา
เรย์ คร็อก ตัดสินใจนำบริษัทแมคโดนัลด์เข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์เมื่อปี ค.ศ. 1965 และในอีก 2 ปีต่อมา คือปี ค.ศ. 1967 แม็คโดนัลด์ก็ได้เปิดสาขาต่างประเทศเป็นสาขาแรกที่เมืองริชมอนด์ ในรัฐบริติชโคลัมเบีย ของประเทศแคนาดา และจากนั้นก็ขยายสาขาของแมคโดนัลด์ไปในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
เรย์ คร็อก ทำให้ร้านขายอาหารเล็กๆ กลายเป็นธุรกิจที่มีเครือข่ายทั่วโลก และตัวเขาเองก็ได้รับยกย่องให้เป็นบิดาแห่งอุตสาหกรรมอาหารจานด่วน เขาได้รับการเปรียบเทียบว่าเป็นผู้ปฏิวัติวงการร้านอาหารจานด่วนเช่นเดียวกับเฮนรี่ ฟอร์ด ที่ปฏิวัติโฉมหน้าวงการรถยนต์ เมื่อเขาก้าวลงจากตำแหน่งผู้บริหาร คนที่เข้ามารับช่วงการบริหารบริษัทต่อจากเขาก็คือเฟร็ด เทอร์เนอร์ ลูกจ้างคนสำคัญคนหนึ่งของเขานั่นเอง
สาเหตุที่ธุรกิจแฮมเบอร์เกอร์ของแมคโดนัลด์ส์ประสบความสำเร็จนั้น อาเทอร์ เบอร์เกอร์ เคยกล่าวไว้ว่า เพราะแฮมเบอร์เกอร์ของที่นี่ไม่ใช่อาหารธรรมดา แต่มีมิติที่ละเอียดอ่อนกว่านั้นแฝงอยู่ คนส่วนมากไม่ได้กินแฮมเบอร์เกอร์เพราะหิว แต่กินเพราะความพอใจมากกว่า และทุกครั้งที่กินก็จะได้รู้สึกเหมือนเป็นส่วนหนึ่งของอเมริกา เพราะกิจการฟาสต์ฟูด อันเกิดจากระบบแฟรนไชส์เหล่านี้ก็คือ Little American ที่กำลังแผ่ขยายไปทั่วโลก
ในด้านชีวิตส่วนตัว เรย์ คร็อก แต่งงาน 3 ครั้ง เขาแต่งงานครั้งแรกเมื่อตอนที่มีอายุได้ 20 ปี เมื่อปี ค.ศ. 1922 กับเอเธล เฟลมมิ่ง (Ethel Fleming) แต่ทั้งคู่ก็หย่าร้างกันในปี ค.ศ. 1961 ซึ่งเป็นการยุติชีวิตคู่ที่มีมายาวนานนับ 39 ปีลง
ภรรยาคนที่สองของเขาคือ เจน ดอบบินส์ กรีน (Jane Dobbins Green) ซึ่งเธอทำหน้าที่เป็นเลขาส่วนตัวของจอห์น เวย์น (John Wayne) ดาราฮอลลีวู้ดชื่อดัง โดยทั้งคู่แต่งงานกันเมื่อปี ค.ศ. 1963 และเขาหย่าขาดจากภรรยาคนที่ 2 นี้เมื่อปี ค.ศ. 1969
หลังจากที่หย่ากับภรรยาคนที่ 2 เรย์ คร็อก ก็แต่งงานใหม่ทันทีกับโจแอน สมิธ หรือในชื่อเดิมของเธอคือคือโจแอน เบเวอร์ลี แมนสฟีลด์ (Joan Beverly Mansfield) เขาแต่งงานกับภรรยาคนนี้เป็นคนสุดท้ายเมื่อวันที่ 8 มีนาคม ค.ศ. 1969 จริงๆ แล้วเรย์ คร็อก ได้พบกับเธอตั้งแต่เมื่อปี ค.ศ. 1957 โดยเมื่อครั้งแรกที่เขาพบเธอนั้นเธอเล่นเปียโนอยู่ที่ร้านอาหารที่มีชื่อว่า St. Paul ในมลรัฐมินเนสโซต้า แต่ขณะนั้นโจแอน สมิธแต่งงานแล้วกับอดีตทหารเรือ แถมยังมีลูกกับสามีของเธอแล้วคนหนึ่ง แต่พวกเขาก็สานความสัมพันธ์อย่างลับๆ จนกระทั่งทั้งคู่หย่าร้างจากคู่สมรสของตนเพื่อมาแต่งงานกัน
นอกเหนือจากการบริหารกิจการแมคโดนัลด์ เรย์ คร็อก ยังมีความสนใจในเรื่องกีฬา เขาเป็นเจ้าของทีมเบสบอลที่ชื่อ “ซานดีเอโก้ ปาเดร์ (San Diego Padres) ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1974 นอกจากนี้ เขายังมีความเกี่ยวพันกับเรื่องการเมืองระดับประเทศอีกด้วย โดยเขาเป็นผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกัน และยังเป็นผู้ให้เงินสนับสนุนอย่างลับๆ แก่ประธานาธิบดีริชาร์ด นิกสัน เป็นจำนวน 250,000 ดอลลาร์ เพื่อช่วยเขาในการเป็นเงินทุนเพื่อใช้ในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งเพื่อเป็นประธานาธิบดีอีกสมัยในปี ค.ศ. 1972
เขาเขียนหนังสือเล่มหนึ่งซึ่งเป็นอัตชีวประวัติของตัวเขาเองชื่อว่า Grinding It Out: The Making of McDonald’s ซึ่งตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1977 หรือในชื่อไทยก็คือ “ขยี้อุปสรรคให้แหลกคามือ”
เรย์ คร็อก เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจล้มเหลวในวัย 81ปี เมื่อวันที่ 14 มกราคม ค.ศ. 1984 ที่โรงพยาบาล Cripps Memorial Hospital ในเมืองซานดีเอโก้ มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ร่างของเขาถูกนำไปฝังที่สุสาน El Camino Memorial Park ในรัฐแคลิฟอร์เนีย เขาทิ้งสมบัติที่หามาได้รวมกับทีมเบสบอลที่เขาเป็นเจ้าของอยู่ให้กับภรรยาของเขาโจแอน ซึ่งเธอเสียชีวิตหลังจากเขาเมื่อวันที่ 12 ตุลาคม ค.ศ. 2003 ด้วยโรคมะเร็งสมอง
ตลอดชีวิตของเขา เขาสามารถหาเงินได้ถึง 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และเรย์ คร็อก ถูกยกให้เป็นหนึ่งใน “ร้อยบุคคลที่สำคัญที่สุดแห่งศตวรรษ” ของนิตยสารไทม์
สุดยอดครับเลย พี่เรย์
จาก “เรย์ คร็อคราชาแฮมเบอร์เกอร์ของโลก ” สำหรับคอลัมน์ “มองซีอีโอโลก” (ลำดับที่ 168) หนังสือพิมพ์โพสต์ ทูเดย์ ประจำวันอาทิตย์ที่ 21 ธันวาคม 2551 โดยวิกรม กรมดิษฐ์ ประธานมูลนิธิอมตะ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น