วันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2556

'เฮกินัน'โมเดลโรงไฟฟ้าถ่านหินในอนาคตของไทย!


          ปัจจุบันสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย จำนวน 67% มาจากก๊าซธรรมชาติ อีก 13% มาจากพลังงานหมุนเวียน จากลิกไนต์ 11% จากถ่านหินนำเข้า 8% และจากน้ำมันเตา จำนวน 1%

          จากจำนวน 67% ของก๊าซธรรมชาติดังกล่าว เป็นการนำเข้าจากพม่าถึง 40% อีกจำนวน 37% เป็นการนำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านแถบอาเซียนด้วยกัน อาทิ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ส.ป.ป.ลาว บวกกับการประมาณการของนักวิเคราะห์ นักวิชาการ ฯลฯ ที่ว่าพลังงานบนผืนโลกของเรากำลังร่อยหรอและจะหมดไปในที่สุด อย่างน้ำมันประมาณกันว่าอีก 10 ปี ก๊าซธรรมชาติอีก 40 ปี และถ่านหินอีก 150 ปี อันจะเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาของทุกประเทศในอนาคตนั้น
          ด้วยเหตุผลเหล่านี้ จึงเริ่มมีการพูดคุยกันถึงการเตรียมรับมือ โดยเฉพาะประเทศไทยที่เริ่มมองสู่ประเด็นการสร้างโรงไฟฟ้าใช้ถ่านหิน พลังงานทางเลือกที่ยังมีอายุการใช้งานอีกยาวไกล อีกทั้งเป็นพลังงานสะอาด ที่ดูเหมือนต้นทุนจะต่ำกว่าพลังงานชนิดอื่นๆ ที่สำคัญเป็นการผลิตขึ้นใช้เองในประเทศ โดยไม่ต้องนำเข้าและพึ่งพาจากประเทศเพื่อนบ้านเหมือนที่ผ่านมา เพราะหากความสัมพันธ์กับประเทศเหล่านี้ถึงจุดวิกฤติคราใด นั่นหมายถึงไทยจะมีปัญหาด้านพลังงานทันที

          สอดคล้องกับแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยในอีก 20 ปีข้างหน้า ที่มีความจำเป็นต้องเพิ่มโรงไฟฟ้า เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งศึกษามาตรฐานโรงไฟฟ้าจากหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเพิ่มโรงไฟฟ้า ที่มุ่งเน้นการรักษาสิ่งแวดล้อม

          ล่าสุด การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) หน่วยงานรัฐวิสาหกิจหลักที่รับผิดชอบการไฟฟ้าของชาติ นำโดย นายชุมพล ฐิตยารักษ์ รองปลัดกระทรวงพลังงาน ได้นำคณะเดินทางไปเยี่ยมชมและศึกษาดูงานโรงไฟฟ้าพลังความร้อนเฮกินัน (Hekinan) ณ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินเก่า ที่มีอายุราว 25 ปี โดยคณะที่เดินทางไปประกอบด้วย นักวิชาการจากสถาบันการศึกษา นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานจากองค์กรเอกชน ผู้นำชุมชน ผู้นำศาสนา และสื่อมวลชนแขนงต่างๆ

          โรงไฟฟ้าพลังความร้อนเฮกินัน ภายใต้การดำเนินงานของบริษัท ชุบุ อิเล็คทริค พาวเวอร์ จำกัด หรือ CEPCO ตั้งอยู่ที่เมืองเฮกินัน ทางตอนใต้ของจังหวัดนาโกยา ห่างจากตัวจังหวัดราว 40 กิโลเมตร มีจุดเด่นคือตัวอาคารโรงไฟฟ้าได้รับการออกแบบให้เหมือนกับเรือยอชท์ที่แล่นอยู่ในอ่าวมิคาวา มีพื้นที่รวมประมาณ 2,080,000 ตารางเมตร ประกอบด้วย พื้นที่อาคารโรงไฟฟ้า 1,600,000 ตารางเมตร และอีก 480,000 ตารางเมตร เป็นพื้นที่สำหรับจัดการและกำจัดเถ้าจากถ่านหิน

          ด้วยโรงไฟฟ้าพลังความร้อนเฮกินัน มีกำลังการผลิต 4,100 เมกะวัตต์ต่อวัน จึงนับว่าเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น และใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งภายในบริเวณแบ่งโซนการผลิตรวม 5 โรงย่อย ภายในแต่ละโรงย่อยจะมีหม้อน้ำ (boiler) กังหันไฟฟ้า เครื่องกำเนิดไฟฟ้า พื้นที่เก็บถ่านหินและกำจัดเถ้าฯ รวมทั้งอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม โดยโรงที่ 1-3 มีกำลังการผลิต ในแต่ละโรง 700 เมกะวัตต์ ส่วนโรงที่ 4-5 มีกำลังการผลิตโรงละ 1,000 เมกะวัตต์

          นายรังสรรค์ อัฐมโนลาภ ผู้ช่วยผู้ว่าการกิจการสังคม กฟผ.กล่าวว่า โรงไฟฟ้าถ่านหินเฮกินัน มีวิธีการบริหารอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่กระบวนการนำเข้าถ่านหิน ซึ่งนำเข้าจากอินโดนีเซีย และออสเตรเลีย ตลอดรวมไปถึงการผลิตและหลังการผลิต ที่มีการดำเนินการอย่างครบวงจร อันนำมาซึ่งการเป็นเทคโนโลยีสะอาด ไม่เป็นมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
          สอดรับกับ นายอิเดะ ผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ที่กล่าวว่า เชื้อเพลิงถ่านหินได้นำเข้าจากหลายประเทศทั่วโลก เนื่องจากมีความมั่นคง และราคาถูกกว่าพลังงานชนิดอื่น สามารถผลิตไฟฟ้าได้ตลอดไป ดังในปี 2011 ซึ่งญี่ปุ่นเกิดแผ่นดินไหว มีปัญหาเรื่องไฟฟ้าโรงนิวเคลียร์ตามมา ถึงวันนี้ยังอยู่ระหว่างปิดการทำงาน ดังนั้น การกระจายกระแสไฟฟ้าให้แก่ประชาชน จึงเป็นหน้าที่ของโรงไฟฟ้าถ่านหิน ซึ่งถือว่ามีราคาถูก แต่มีเสถียรภาพมากที่สุด
          อย่างไรก็ตาม นายอิเดะกล่าวยอมรับว่า การใช้ถ่านหินผลิตกระแสไฟฟ้านั้น แตกต่างจากการใช้ก๊าซ น้ำมัน ฯลฯ เนื่องจากเป็นของแข็งใช้งานยาก สิ่งที่ตามมาจึงเป็นเรื่องของฝุ่น เขม่า อันนำมาซึ่งปัญหามลภาวะ ทว่าบริษัทก็เชื่อมั่นว่าการใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย ใหม่ล่าสุด มีประสิทธิภาพ จะสามารถจัดการกับปัญหาสิ่งแวดล้อมดังกล่าวได้

ท้องถิ่น-โรงไฟฟ้า พูดความจริงกับชาวบ้าน!

          ในการนี้คณะจากประเทศไทยได้มีโอกาสเข้าพบ นายมาซาโนบุ เนกิตะ นายกเทศมนตรีเมืองเฮกินัน เจ้าของพื้นที่ตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินเฮกินัน เพื่อรับฟังแนวทางระบบการจัดการของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ และความร่วมมือของเทศบาลฯที่ผ่านมา
          นายกเทศมนตรีเมืองเฮกินัน กล่าวว่า ก่อนจะมีการตั้งโรงไฟฟ้าในพื้นที่เพื่อรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นนั้น บริษัทชุบุ อิเล็ค ทริก พาวเวอร์ จำกัด (CEPCO) ซึ่งได้รับสัมปทานผลิตและจ่ายไฟฟ้า ได้ลงพื้นที่ศึกษาสิ่งแวดล้อม ทำความเข้าใจกับประชาชนซึ่งมีประชากรราว 72,000 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมและการประมง พร้อมกับมีมาตรการรองรับในการรักษาความปลอดภัยจากมลพิษที่จะเกิดขึ้นไม่ให้มีค่าเกินมาตรฐานที่กำหนดไว้
          รวมทั้งมีแผนจัดการกับสังคมรอบโรงไฟฟ้าด้วยทำเอ็มโอยูกับอีก 3 เมืองใกล้เคียง กรณีได้รับผลกระทบ อีกทั้งออกเป็นกฎหมายว่าพื้นที่โดยรอบ จำนวน 25% ต้องเป็นสัดส่วนของพื้นที่สีเขียว ควบคู่กับการที่บริษัทต้องพัฒนาสนับสนุนชุมชนด้วยเม็ดเงินปีละกว่า 300 ล้านบาท หรือในกฎหมายแรกเริ่มของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งนี้ที่ระบุว่า จำนวน 1 ใน 4 ของงบประมาณการก่อสร้างโรงไฟฟ้าเฮกินันโดยรวม ต้องนำมาซึ่งการพัฒนาชุมชนโดยรอบดังกล่าว
          ด้วยมาตรการเหล่านี้ นายกเทศมนตรีเมืองเฮกินัน กล่าวว่า จึงทำให้ประชาชนเกิดความมั่นใจในระบบการจัดการเทคโนโลยีสะอาดของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ อันสอดรับกับที่ผ่านมาภายหลังโรงงานไฟฟ้าเฮกินันเปิดดำเนินการก็ไม่เคยมีปัญหาก่อมลพิษที่ส่งผลกระทบต่อประชาชน อีกทั้ง ในทุกเดือนทางโรงไฟฟ้าจะต้องรายงานผลการตรวจวัดคุณภาพอากาศ จากปริมาณสารที่ถูกปล่อยออกมา เพื่อให้ประชาชนรับทราบข้อมูลอย่างต่อเนื่อง
          นายมาซาโนบุ กล่าวอีกว่า พลังงานทุกอย่างมีข้อดีข้อเสีย ซึ่งการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิงเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งไม่เกิดผลดีแน่นอน เพราะหากเชื้อเพลิงจากพลังงานอื่นเกิดปัญหา และไม่มีพลังงานทางเลือกอื่นมารองรับ ก็จะไม่สามารถนำพลังงานชนิดอื่นมาใช้ทดแทนได้อย่างเพียงพอต่อความต้องการ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงจากพลังงานทดแทนอย่างสมดุล

          อย่างไรก็ตาม ตลอดเวลากว่า 20 ปี ในการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าถ่านหินเฮกินันแห่งนี้ นายกเทศมนตรีย้ำว่า ได้รับการร้องเรียนด้านสิ่งแวดล้อมจากประชาชนเพียง 1-2 รายเท่านั้น ซึ่งเป็นช่วงเริ่มปีแรกของการก่อสร้าง ต่อเมื่อได้รับการอธิบายถึงมาตรการป้องกันอย่างละเอียดถี่ถ้วน มีเหตุมีผลสอดคล้องกันจากทุกๆ ฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ท้ายสุดผู้ร้องเรียนกลุ่มนี้จึงยุติบทบาทไปโดยปริยาย

          รวมทั้งการทำข้อตกลงการปล่อยมลภาวะของบริษัทชุบุฯ กับทางเทศบาลในฐานะตัวแทนของประชาชน ซึ่งข้อตกลงดังกล่าวมีความเข้มงวดกว่ามาตรฐานของทางการ ดังรายละเอียดข้างล่าง

 มาตรฐาน ก.ม.          ข้อตกลงกับท้องถิ่น
ปล่อยซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (Sox)  <98-108 ppm <25-28 ppm
ปล่อยไนโตรเจนออกไซด์ (NOx)  <200 ppm<15-30 ppm
ปล่อยเขม่าและฝุ่น (Soot)  <100 ppm<5 mg/m3N

          ความร่วมมือของเทศบาลเมืองเฮกินัน บริษัทชุบุฯ เจ้าของกิจการ อันรวมถึงประชาชนในพื้นที่มีความเข้าใจซึ่งกันและกัน ส่งให้การอยู่ร่วมกันของคนชุมชนกับโรงไฟฟ้าเป็นไปด้วยดีตลอดเวลาที่ผ่านมา ทั้งมวลนี้นายกเทศมนตรีเมืองเฮกินัน กล่าวย้ำว่า เป็นเพราะการทำหน้าที่ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง โปร่งใส ตรวจสอบได้ ไม่มีความลับต่อกัน มีความจริงใจในการแก้ปัญหาร่วมกัน อันนำมาซึ่งเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือเพื่อประโยชน์สุขของชนในชาติเป็นสำคัญ
ขึ้นอยู่กับบริบทสังคม การเมืองของไทย?

          นั่นเป็นบริบทของโรงไฟฟ้าถ่านหินเฮกินัน ที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่น ประเทศที่ได้ชื่อว่าพัฒนาแล้วในทุกๆ ด้าน ไม่เว้นแม้แต่สภาพจิตใจที่แข็งแกร่ง ควบคู่ไปกับการมีคุณธรรม จริยธรรม ทว่า กับประเทศไทยจำเป็นหรือยังที่จะมีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินลักษณะนี้ เพราะบริบททางสังคม การเมือง ของบ้านเรายังไม่มีประสิทธิภาพเทียบเท่าญี่ปุ่นในทุกด้านฉันใดก็ฉันนั้น โดยเฉพาะการ
          สร้างความไว้วางใจให้เกิดขึ้นในภาคประชาชน และยินยอมให้ชุมชนเข้ามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ อีกทั้งตรวจสอบการดำเนินการของผู้ประกอบการ

          ดังที่ รศ.ดร.สุธา ขาวเพียร นักวิชาการภาควิศวกรรมสิ่งแวดล้อม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้ความเห็นว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นกับการหาพลังงานทางเลือกอื่นที่น่าสนใจมาใช้ในเวลาที่ประเทศยังไม่เกิดวิกฤติขาดแคลนไฟฟ้า ทว่า จะต้องมีการจัดทำยุทธศาสตร์ทางเลือกร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับประชาชนในพื้นที่อย่างชัดเจน โดยจะต้องเปิดเผยข้อมูลอย่างรอบด้านและครบถ้วนในโครงการ เพื่อความโปร่งใส สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาชนได้
          “เชื่อว่าหากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมดำเนินการไปในทิศทางเดียวกัน พร้อมทำความเข้าใจให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่ รวมถึงมีมาตรการรองรับปัญหามลพิษที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างจริงจัง ปัญหาการต่อต้านจากคนในพื้นที่ก็จะไม่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน”
ปัญหาเรื่องความมั่นคงด้านพลังงานในประเทศไทย เชื่อว่าจะทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ หากว่ายังไม่มีการตัดสินใจจะสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มหรือไม่ หรือจะคอยแต่จะซื้อจากประเทศเพื่อนบ้าน!
          อย่างไรก็ตาม แม้เทคโนโลยีโรงไฟฟ้าในหลายประเทศ รวมถึงโมเดลโรงไฟฟ้าถ่านหินเฮกินันของญี่ปุ่นจะมีประสิทธิภาพสูง แต่การจะนำมาเป็นโมเดลเพื่อการพัฒนาพลังงานในประเทศไทย หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรพิจารณาเหตุผลให้ดี โดยเฉพาะในประเด็นการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ที่จะต้องมีการพูดคุยหารือร่วมกัน แม้อาจต้องใช้ระยะเวลาที่ยาวนานก็ต้องอดทนรอ จนกว่าจะได้ข้อสรุปที่ดีที่สุด



ที่มา : จาก เว็บ คมชัดลึกออนไลน์ วันพฤหัสบดีที่ 5 กันยายน 2556

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น