วันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2556

“ถ่านหิน” และ “พลังงานสกปรกอื่นๆ” : โรงไฟฟ้าถ่านหินบีแอลซีพีที่มาบตาพุดและการหลอกขายถ่านหินครั้งใหญ่


ที่มาบตาพุดมีโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่แห่งหนึ่งชื่อว่า “บีแอลซีพี”
โรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งนี้มีกำลังการผลิต 1,434 เมกกะวัตต์ ดำเนินการโดยบริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัดบนพื้นที่ถมทะเลของนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด ไฟฟ้าที่ผลิตได้ขายให้กับ กฟผ. ภายใต้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า 25 ปี เป็นโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระซึ่งร่วมทุนระหว่างบริษัทบ้านปูจำกัด(มหาชน) ร้อยละ 50 และบริษัทไชน่าไลท์เพาเวอร์ (CLP) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ฮ่องกง อีกร้อยละ 50 ซึ่งต่อมามีการซื้อขายเปลี่ยนหุ้นให้กับบริษัทเอ็กโก โครงการเริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนสิงหาคม พ.ศ. 2546 บริษัทมิตซูบิชิเฮพวี่อินดัสทรีร่วมกับบริษัทมิตซูบิชิได้รับการว่าจ้างโดยบริษัทบีแอลซีพีในการก่อสร้างโรงไฟฟ้า พื้นที่ก่อสร้างอยู่บนพื้นที่ถมทะเลห่างจากฝั่ง 3 กิโลเมตร และพื้นที่ชุมชนที่ใกล้ที่สุดราว 4 กิโลเมตร
โรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งนี้มีมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 1.37 พันล้านเหรียญสหรัฐซึ่งเป็นเงินกู้โดยตรงจำนวน 245 ล้านเหรียญสหรัฐ จากธนาคารญี่ปุ่นเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศ(JBIC)โดยเป็นการร่วมให้กู้(co-financing)กับธนาคารเอกชน และมี Nippon Export and Import Insurance (NEXI) ให้เงินประกัน 163 ล้านเหรียญสหรัฐในส่วนของการให้กู้โดยธนาคารเอกชน และเงินกู้จากธนาคารพัฒนาเอเชียอีกจำนวนกว่า 140 ล้านเหรียญสหรัฐและการรับประกันความเสี่ยงทางการเมืองอีกราว 70 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเป็นการร่วมให้กู้กับธนาคารเอกชนอีกหลายแห่ง นอกจากนี้ อีกประมาณ 620 ล้านเหรียญสหรัฐมาจากเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ภายในประเทศ
เชื้อเพลิงที่นำมาใช้เป็นถ่านหินบิทูมินัสจากประเทศออสเตรเลียโดยทำสัญญากับบริษัทริโอ ตินโต บริษัทยักษ์ใหญ่ถ่านหิน การขนส่งถ่านหินเป็นการขนส่งทางเรือมายังท่าเทียบเรือของบริษัท ประมาณว่าโรงไฟฟ้าถ่านหินบีแอลซีพีเมื่อสร้างเสร็จจะต้องใช้ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า 3.5 ล้านตันต่อปี ประเทศไทยเพิ่งนำเข้าถ่านหินจากออสเตรเลียโดยในปี 2543 มีปริมาณการนำเข้า 136,000 ตัน หากแผนการที่จะผลักดันให้มีการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินภายใต้การผลักดันของประเทศอุตสาหกรรมอย่างออสเตรเลียและอุตสาหกรรมถ่านหินข้ามชาติเพื่อให้มีการนำเข้า”ถ่านหินสะอาด” เป็นจริง การนำเข้าถ่านหินของไทยจะเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 50 ล้านตันภายในปี 2563
การหลอกขายถ่านหินครั้งใหญ่
บริษัทบ้านปูจำกัด (มหาชน) เป็นบริษัทร่วมทุนของโครงการนี้ บริษัทบ้านปูถือเป็นบริษัทอุตสาหกรรมถ่านหินที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เป็นบริษัททำเหมืองถ่านหินที่ใหญ่เป็นอันดับเจ็ดของโลกและเป็นผู้ส่งออกถ่านหินอันดับสี่ในเอเชีย และยังดำเนินการธุรกิจเหมืองถ่านหินในอินโดนีเซียและจีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งสร้างผลกำไรให้บริษัทมหาศาลนับจากเข้าตลาดหุ้นไทยในปี 2532 ธุรกิจถ่านหินของบ้านปูในช่วงต้นเกี่ยวข้องโดยตรงกับโรงไฟฟ้าลิกไนต์แม่เมาะของบริษัท กฟผ. จำกัด(มหาชน) โรงไฟฟ้าถ่านหินที่มีมลพิษมากที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย
บริษัทไชน่าไลท์แอนด์เพาเวอร์จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนที่สำคัญของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบีแอลซีพี มีบทบาทหลักในการจัดการด้านงานก่อสร้างและยังเป็นผู้ร่วมทุนหลักของบริษัทเพาเวอร์เจเนอเรชั่นเซอร์วิส(PGS) ซึ่งจะเข้ามาดำเนินการหลังจากโรงไฟฟ้าสร้างแล้วเสร็จ โรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัทไชน่าไลท์แอนด์เพาเวอร์จำกัดในฮ่องกงยังได้รับการคัดค้านจากกลุ่มอนุรักษ์ท้องถิ่นที่นั่น ต่อมาบริษัทไชน่าไลท์แอนด์เพาเวอร์จำกัดได้ขายหุ้นทั้งหมดให้กับบริษัทเอ็กโก
กลุ่มอุตสาหกรรมถ่านหินเหล่านี้ บริษัทบ้านปู จำกัด(มหาชน) และบริษัทริโอตินโต เป็นหัวแถวของผู้สนับสนุนการค้าถ่านหินเพื่อให้ประเทศไทยและประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หันมาเสพติดคาร์บอนเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำการโน้มน้าวให้รัฐบาลมิให้สนใจวาระซ่อนเร้นภายใต้โครงการและคำประดิษฐ์สวยหรูของตน เช่น โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบีแอลซีพีในฐานะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินที่ทันสมัยและใช้เทคโนโลยีถ่านหินสะอาด
โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบีแอลซีพีเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการรวมหัวกันระหว่างสถาบันการเงินภาคสาธารณะและภาคเอกชนกับภาครัฐบาลและบริษัทพลังงานข้ามชาติซึ่งดำเนินการธุรกิจสกปรกของตนโดยไม่แยแสผลกระทบที่เกิดขึ้นกับชุมชนท้องถิ่นและสภาพภูมิอากาศของโลก
มาบตาพุด-แดนมลพิษ
เดิมมาบตาพุดเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่อยู่ระหว่างชายฝั่งทะเลอันสวยงามและแผ่นดินตอนในของจังหวัดระยอง ขณะนี้คือที่ตั้งของกลุ่มโรงงานปิโตรเคมีและโรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัทบีแอลซีพี มาบตาพุดปัจจุบันถูกขนานนามว่าพื้นที่เสี่ยงภัยมลพิษอันดับหนึ่งของประเทศไทย
การศึกษาผลกระทบสุขภาพในพื้นที่มาบฅาพุดเมื่อไม่นานมานี้บ่งชี้อย่างชัดเจนว่าการรับสัมผัสมลพิษและอุบัติภัยจากสารเคมีได้ทำให้สถานการณ์ทางเศรษฐกิจสังคมของชุมชนที่เลวร้ายอยู่แล้วเลวร้ายลงไปอีก การศึกษายังได้มองภาพรวมถึงกลุ่มของโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาท ระบบการเจริญพันธ์ ระบบกล้ามเนื้อ ความผิดปกติทางจิต อุบัติเหตุและการบาดเจ็บ เป็นกลุ่มอาการของโรคที่มีอัตราสูงกว่าพื้นที่อื่นๆ ทั้งประเทศ
นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดมีปล่องควันมากกว่า 200 ปล่อง ซึ่งระบายมลพิษออกสู่ 25 ชุมชุนรายรอบ หลังจากปี 2540 (เมื่อโรงเรียนต้องปิดและย้ายออกไปในที่สุดเนื่องจากปัญหามลพิษที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง) ปัญหามลพิษที่มาบตาพุดก็เป็นที่รับรู้ต่อสาธารณชนมากขึ้นในฐานะเป็นกรณีผลกระทบที่ชัดเจนและรุนแรงอันไม่พึงปรารถนาจากการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ไม่ยั่งยืน
การศึกษาเรื่องศักยภาพการรองรับสารมลพิษทางอากาศบริเวณมาบตาพุด โดยสำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมสรุปว่าเมื่อแหล่งกำเนิดทุกแหล่งระบายก๊าซออกมาในอัตราสูงสุด ตามค่าที่ยอมให้ระบายได้จากการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Maximum Allowable Emission Limit)  พร้อมกันทุกแหล่ง  จะมีผลทำให้ค่าความเข้มข้นของมลสารในบางพารามิเตอร์สูงเกินค่ามาตรฐานของคุณภาพอากาศในบรรยากาศ
ตัวการทำลายสภาพภูมิอากาศ
โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินบีแอลซีพีจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาถึง 229.4 ล้านตันในช่วง 20 ปีของการดำเนินงาน ซึ่งมีส่วนสำคัญต่อการก่อให้ภาวะโลกร้อน การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ทั้งหมดของโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีจะมีขนาดเทียบเท่ากับช้างแอฟริกันกว่า 32,771,428 ตัว
ภาวะโลกร้อนได้เกิดขึ้นแล้ว ช่วงปี 2004-2005 ประเทศไทยเผชิญกับภัยแล้งอย่างรุนแรงใน 63 จังหวัด ส่งผลกระทบต่อประชาชนราว 9.2 ล้านคนและพื้นที่เกษตรกรรมกว่า 8,090 ตารางกิโลเมตร รัฐบาลไทยระบุว่าหายนะจากภัยแล้งดังกล่าวคิดเป็นมูลค่าความเสียหายทางเศรษฐกิจในราว 193.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ผลผลิตข้าวของประเทศลดลงจากร้อย 11 เป็นร้อยละ 14 ในช่วงฤดูเก็บเกี่ยวที่ผ่านมา ขณะที่ผลผลิตอ้อยก็ลดลงอย่างมากอีกด้วย
มีการคาดกันว่าภาวะโลกร้อนจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตของข้าวหอมมะลิอันมีชื่อเสียงของไทยด้วย การศึกษาระบุว่า ยิ่งมีความเข้มข้นของคาร์บอนไดออกไซด์มากขึ้นเท่าไร ผลผลิตข้าวหอมมะลิก็จะลดลงเท่านั้น การตกต่ำของผลผลิตข้าวอาจสูงถึงร้อยละ 20 ปัจจุบันผลผลิตข้าวของประเทศไทยอยู่ที่ 22 ล้านตันต่อปี คิดเป็นร้อยละ 4 ของการผลิตข้าวทั่วโลก
ดร. กัณฑรีย์ บุญประกอบ อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหงและรองประธานคณะกรรมการคณะที่ 1 ของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) กล่าวว่า “หนึ่งในสาเหตุหลักของการที่เกิดภัยแล้งยาวนานมากขึ้นในประเทศไทยคือภาวะโลกร้อน ซึ่งทำให้สภาวะที่มีฝนตกลดลงและพื้นดินร้อนระอุมากขึ้น และการระเหยของน้ำเป็นไปอย่างรวดเร็วมากขึ้น”
คำกล่าวของ ดร. กัณฑรีย์ เป็นไปตามการคาดการณ์ที่รัฐบาลไทยนำเสนอต่อเวทีอนุสัญญาว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก่อนหน้านี้ “ผลกระทบที่เห็นชัดเจนที่สุด…คือการเปลี่ยนแปลงปริมาณน้ำฟ้าและความเข้มข้นของมันในภูมิภาคต่างๆ ภัยแล้งและอุทกภัยที่รุนแรงมากขึ้นสามารถเกิดขึ้นได้ ผลกระทบต่อทรัพยากรน้ำที่ส่งผลต่อระบบการเกษตรจะมีมากขึ้น ผลผลิตและแบบแผนการเพาะปลูกก็จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง”
ตราบเท่าที่ยังมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยเฉพาะคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาอย่างไม่จำกัด ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ  และประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยจะได้รับผลกระทบมากขึ้นจากสภาวะภูมิอากาศที่รุนแรงขึ้นไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง พายุ และเกิดปะการังฟอกขาวรวมถึงระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคือภัยคุกคามที่รุนแรงมากที่สุดที่โลกของเราเผชิญอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับกิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลเช่น ถ่านหิน เป็นต้น ซึ่งก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำนวนมหาศาลอกสู่บรรยากาศ ในบรรดาเชื้อเพลิงฟอสซิลทั้งหลาย ถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงที่สกปรกที่สุดโดยมีสัดส่วนการปล่อยคาร์บอนต่อหน่วยพลังงานมากกว่าน้ำมันร้อยละ 29 และมากกว่าก๊าซร้อยละ 80
การต่อต้านถ่านหินของชุมชน
ชุมชนมาบตาพุดเริ่มประท้วงต่อต้านโครงการโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีในปี 2544 โดยความกังวลที่จะเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการขยายท่าเรือโดยการถมทะเลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ และซ้ำเติมปัญหามลพิษทางอากาศและน้ำที่เกิดขึ้นอยู่แล้ว ชุมชนยังได้เรียกร้องไปยังคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติอีกด้วย อย่างไรก็ตาม การต่อสู้ของชุมชนต้องสลายลงเมื่อเผชิญกับการทำงานมวลชนสัมพันธ์ของบริษัทอย่างต่อเนื่อง ในปี 2547 บริษัทบีแอลซีพีเพาเวอร์จำกัดใช้เงิน 25 ล้านบาทในการดำเนินการโครงการชุมชนสัมพันธ์ของตน
บริษัทบีแอลซีพีเพาเวอร์จำกัดไม่ได้ทำอะไรมากกว่าไปกว่าพยายามที่จะบอกว่าทางบริษัทได้ทำกระบวนการปรึกษาหารือกับชุมชนในโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินแล้ว โครงการโรงไฟฟ้านี้ได้รับเลือกจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยเป็นโครงการผู้ผลิตไฟฟ้าอิสระในปี 2539 สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อนุมัติรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมในปี 2545 เดือนกันยายนปีเดียวกัน ได้มีการจัดตั้งคณะกรรมการไตรภาคีเพื่อนำมาเป็นกลไกการตรวจสอบแทนกระบวนการประชาพิจารณ์ซึ่งถูกวิจารณ์ซ้ำแล้วซ้ำอีกว่าเป็นกลไกที่ไม่มีประสิทธิภาพและล้มเหลวในการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งระหว่างชุมชนท้องถิ่นและผู้สนับสนุนโครงการ บริษัทบีแอลซีพีเพาเวอร์จำกัดยังอ้างถึงประสบการณ์ของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่บ่อนอกและบ้านกรูด จ.ประจวบคีรีขันธ์ เป็นข้อพิสูจน์ว่าการทำประชาพิจารณ์นั้นไม่ได้ผล แท้ที่จริงแล้ว จุดยืนของชุมชนในประจวบคีรีขันธ์ยังยืนกรานว่าหากการทำประชาพิจารณ์ที่แท้จริงเกิดขึ้น โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินจะยุติไปเร็วกว่านี้
แนวคิดในการทำประชาพิจารณ์ซึ่งกล่าวอ้างโดยบริษัท บีแอลซีพี เพาเวอร์ จำกัด ขัดแย้งกับแนวทางด้านสิ่งแวดล้อมของธนาคารญี่ปุ่นเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศซึ่งจำเป็นต้องมีการปรึกษาหารืออย่างเต็มที่กับผู้มีส่วนได้เสียในโครงการ เช่น ชุมชนท้องถิ่น ผลจากการปรึกษาหารือจะต้องนำมาผนวกอยู่ในแผนงานของโครงการ
ในเดือนพฤษภาคม 2548 กรีนพีซทำการเก็บตัวอย่างเถ้าลอยจากศูนย์อิฐบล็อกจากเถ้าลอยที่วัดตากวน และส่งตรวจวิเคราะห์ที่ห้องปฏิบัติการที่ได้รับการรับรองมาตรฐานที่กรุงเทพฯ ผลจากการวิเคราะห์ในเดือนมิถุนายนพบว่าเถ้าลอยดังกล่าวปนเปื้อนไปด้วยโลหะหนักเป็นพิษหลายชนิด ผลการวิเคราะห์ยังชี้ให้เห็นว่าบริษัทบีแอลซีพีซึ่งจงใจหลอกลวงชาวบ้านโดยการจัดตั้งศูนย์อิฐบล็อกในบริเวณวัดตากวนเพื่อประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนยอมรับโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินที่สกปรกของตน
เถ้าลอยที่บริษัทบีแอลซีพีนำมาใช้นั้นมาจากโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาด 513 เมกกะวัตต์ของบริษัทโกลว์ที่ดำเนินการอยู่ในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด(โกลว์ เอสพีพี 3) โรงไฟฟ้าถ่านหินของโกลว์ลงนามรับซื้อถ่านหินจากบริษัทบ้านปูในปี 2542 โดยมีปริมาณการนำเข้าถ่านหินต่อปีราว 660,000 ตัน แหล่งถ่านหินที่นำมาใช้ในโรงไฟฟ้าโกลว์มาจากเหมืองถ่านหินของบ้านปูในอินโดนีเซีย
การปนเปื้อนของโลหะหนักที่เป็นพิษในเถ้าลอยยังก่อให้เกิดอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากปริมาณเถ้าลอยที่ผลิตออกมาเป็นจำนวนมหาศาลและการที่สารพิษในเถ้าลอยหลุดรอดออกสู่สิ่งแวดล้อมโดยรอบ
ทางเลือกพลังงาน
การศึกษาโดยกรีนพีซในปี 2543 ระบุชัดเจนว่าภายในปี 2563 มากกว่า 1 ใน 3 ของความต้องการไฟฟ้าของประเทศไทยได้มากจากแหล่งพลังงานสะอาด เมื่อจากศักยภาพพลังงานสะอาดที่ร้อยละ 35 เราสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานชีวมวลได้ร้อยละ 25 จากพลังงานน้ำขนาดเล็กได้ร้อย 5 และจากพลังงานแสงอาทิตย์อีกร้อยละ 2.5 ที่เหลืออีก 2.5 ได้มาจากพลังงานความร้อนใต้พิภพและพลังงานลม ประมาณว่าในช่วงปี 2553 และ 2568 พลังงานสะอาดจะมีราคาถูกลงมากเมื่อเทียบกับแหล่งพลังงานแบบเดิม และอาจถูกกว่าหากเทคโนโลยีพลังงานสะอาดมีการพัฒนาให้เป็นกระแสหลัก
นอกจากนี้ การศึกษาโดยรัฐบาลยุโรปร่วมกับสำนักนโยบายและแผนพลังงานระบุถึงศักยภาพของพลังงานสะอาดและการประหยัดพลังงาน ข้อมูลจากกระทรวงพลังงานเสนอว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการพัฒนาพลังงานสะอาดมากกว่า 14,000 เมกกะวัตต์ โดยแบ่งเป็นพลังงานชีวมวล 7,000 เมกกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์มากกว่า 5,000 เมกกะวัตต์ พลังงานลม 1,600 เมกกะวัตต์ และอีก 700 เมกกะวัตต์จากพลังงานน้ำขนาดเล็ก การศึกษาในปี 2541 ระบุว่าการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานงานชีวมวลที่นำมาใช้ได้ในเชิงพาณิชย์อยู่ที่ 3,000 เมกกะวัตต์ สถาบันนานาชาติเพื่อการประหยัดพลังงานระบุอีกว่าการจัดการด้านความต้องการใช้ไฟฟ้าสามารถประหยัดได้ถึง 2,200 เมกกะวัตต์ซึ่งใช้งบประมาณน้อยกว่าการสร้างโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่มาก เมื่อรวมเอาศักยภาพของการจัดการด้านความต้องการและพลังงานจากชีวมวลจะมีมากกว่า 2 เท่าของกำลังการผลิตของโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินของบริษัทบีแอลซีพี
ในเดือนสิงหาคม 2546 รัฐบาลไทยได้เริ่มจัดทำยุทธศาสตร์พลังงานแห่งชาติซึ่งวางเป้าหมายสำหรับประสิทธิภาพพลังงานและการพัฒนาพลังงานสะอาด พร้อมกันนี้ เครือข่ายพลังงานยั่งยืนของไทยได้มีการพัฒนาแนวคิดแผนพัฒนาพลังงานทางเลือก (the Power Development Plan Alternative) ในปี 2542 และมีการผลักดันให้มีการปฏิบัติที่เป็นจริงโดยสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติในปี 2547 ในช่วงเวทีสาธารณะเรื่องการแปรรูปกิจการไฟฟ้าของรัฐ ในแผนพัฒนาพลังงานทางเลือกระบุว่า การพัฒนาพลังงานสะอาดและยั่งยืนจะนำไปสู่เศรษฐกิจที่ดีขึ้น ลดภาระค่าใช้จ่ายภายนอกที่เกิดขึ้นจากการพัฒนาพลังงาน สร้างงานมากขึ้นและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงเมื่อเปรียบเทียบกับโรงไฟฟ้าถ่านหิน นอกจากนี้ แผนพัฒนาพลังงานทางเลือกนำไปสู่เป้าหมายการพัฒนาพลังงานสะอาดที่มากขึ้นโดยการเพิ่มสัดส่วนจากร้อยละ 2 เป็นร้อยละ 10 ภายในปี 2568

ที่มา : จากเว็บ http://taragraphies.org

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น