คนไทยเรานั้นมีคติความเชื่่อ สืบมาตั้งแต่ครั้งโบราณอยู่มากมาย หนึ่งในนั้นก็คือความเชื่อเรื่องความฝัน ว่าสามารถบันดาลผลดีหรือผลร้ายให้กับคนที่ฝันและบุคคลข้างเคียงนั้น เรื่องในความฝัน ไม่ว่าเรื่องนั้นจะเป็นเรื่องดีหรือเรื่องร้าย ก็มักมีผลกระทบต่อจิตใจของผู้ฝัน จนเป็นที่มาของการทำพิธีกรรมต่าง ๆ เพื่อให้ความวิตกกังวลในเรื่องดังกล่าวผ่อนคลายลง
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถานของไทย ให้ความหมาย ว่า “ฝัน” เป็นการนึกเห็นเป็นเรื่องราวเมื่อเวลาหลับ
ในทางวิทยาศาสตร์ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวเรื่องฝันของมนุษย์ว่า โดยเฉลี่ย บุคคลจะฝัน 3 ถึง 5 เรื่องต่อคืน ระหว่างการนอนหลับ 8 ชั่วโมง บุคคลจะใช้เวลากับการฝัน 2 ชั่วโมง ความฝันกินระยะเวลาตั้งแต่ไม่กี่วินาทีไปจนถึง 20 นาที และมีแนวโน้มนานขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ความฝันจะเกิดขึ้นในการนอนหลับระยะ REM เป็นหลัก เมื่อกิจกรรมของสมองเพิ่มสูงขึ้นเสมือนว่ากำลังตื่นอยู่ เมื่อตื่นขึ้นคนปกติมักจำความฝันได้มากกว่าหากฝันในระยะ REM ความฝันสามารถเกิดได้ในการนอนหลับขั้นอื่น แต่ความฝันมีแนวโน้มสมจริงหรือผู้ฝันจำได้น้อยกว่าฝันในระยะ REM มาก
พระนันทาจาริย์ ผู้แต่งคัมภีร์สารัตถะสังคหะ และปราชญ์องค์หนึ่งในพระพุทธศาสนา ได้ระบุมูลเหตุของความฝันไว้เป็นข้อคิดทั้งหมด 4 ประการ ดังต่อไปนี้
1. ความฝันเกิดจากธาตุกำเริบ กล่าวคือร่างกายไม่ปกติครั้นหลับหลับลงจึงฝันไปในรูปแบบต่างๆ
2. ความฝันเกิดจากดวงจิตที่ฝังพะวง หรือพัวพันอยู่กับสิ่งหนึ่งก่อนหน้าจะหลับจึงเก็บเอาสิ่งนั้นมาฝัน
3. เกิดจากอิทธิฤทธิ์ของเทวดา เพราะเทวดาต้องการการให้โทษหรือให้คุณ
4. ฝันโดยเป็นบุรพนิมิต คือบอกให้รู้ล่วงหน้าว่าจะมีเหตุดีหรือร้ายอย่างหนึ่งอย่างใดขึ้น
เรื่องเล่าตอน “กำเนิดศรีธนญชัย” ได้สะท้อนถึงความเชื่อของคนไทยเกี่ยวกับรูปแบบของความฝัน ความดังนี้
มีครอบครัวหนึ่ง สามีชื่อ “นายนันทา” ภรรยาชื่อ “นางเหรา” ตั้งบ้านอยู่ริมบึง ทางเหนือของกรุงศรีอยุธยา ทั้งสองอยู่กันมานานแต่ไม่มีทายาทสืบสกุลทำให้ทั้งสองกลุ้มใจมาก สามีภรรยาคู่นี้จึงได้ทำการบรวงสรวงเทวดาเพื่อขอลูก พระอินทร์พอได้ทราบเรื่องจึงมีเทวบัญชาให้เทพบุตรองค์หนึ่งจุติลงมาในครรภ์ของนางเหรา
ในคืนนั้นเองนางเหราฝันว่า “ได้ไปเที่ยวเล่นที่เขาพระสุเมรุอันสูงใหญ่ นางยื่นมือไปจับยอดเขา แล้วขึ้นไปคว้าเอาพระจันทร์มากิน” นางสดุ้งตื่นเล่าความฝันให้สามีฟัง นายนันทาปลอบภรรยาแล้วแนะนำให้ไปพบท่านสมภาร ให้ช่วยทำนายฝันให้
ครั้นรุ่งเช้า นางเหรารีบตรงไปพบของท่านสมภารยังกุฏิ พอไปถึงได้พบกับสามเณรรูปหนึ่ง สามเณรบอกนางเหราว่า ท่านสมภารติดกิจนิมนต์ จะกลับมาตอนสายๆ พร้อมกับถามนางว่า ต้องการพบกับทา่นสมภารด้วยธุระด่วนเรื่องอะไร นางเหราจึงตอบสามเณรว่าอยากจะให้ท่านสมภารช่วยทำนายฝันให้ สามเณรเห็นนางเหราร้อนรนกระสับกระสาย จึงให้นางเหราเล่าความฝันให้ฟัง แล้วสามเณรก็ทำนายฝันไปว่า
ปีนี้คงมีบุตร งามบริสุทธิ์หมดมลทิน
เป็นชายโฉมเฉิดฉิน ประกอบสิ้นในลักขณา
จะเป็นตลกหลวง เราไม่ลวงเล่นดอกหนา
ไปเถิดนางสีกา ตามรูปว่าอย่าวุ่นวาย
นางเหราได้ยินคำทำนายก็กลับไปเล่าให้สามีฟัง สองสามีภรรยาดีใจจะได้ลูกกันสักที ครั้นพอท่านสมภารกลับมาจากกิจนิมนต์ สามเณรได้เล่าเรื่องนางเหรามาพบแล้วเล่าความฝันให้ฟัง พร้อมกับคำที่ตนเองทำนายไป ทำให้สมภารโกรธบอกสามเณรว่า
เขาจักรมีลูกชาย งามพรรณรายด้วยบุญมา
จะได้ครองพารา ในใต้ฟ้าไม่เทียมทัน
จากในเรื่อง ความจริงดวงชะตาของเด็ก ควรจะเป็นไปตามที่สมภารบอก เพราะเป็นเทวดาลงมาเกิด แต่เนื่องจากสามเณรไปทำนายไว้ก่อน จึงทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนกับชีวิตของเด็ก ตามความเชื่อของคนไทย
ยังมีพุทธทำนาย 16 ประการ ที่พระพุทธเจ้าทรงทำนายพระสุบินของพระเจ้าปเสนทิโกศล บางข้อเกิดขึ้นแล้วในปัจจุบัน
พลตรีหลวงวิจิตรวาทการ ผู้ประพันธ์เรื่องความฝัน แปลข้อคิดในการทำนายฝันของต่างประเทศซึ่งเขียนโดยท่านผู้หญิงเดอซีเร มีหลักเกณฑ์การทำนายฝันที่น่าคิดและน่าสนใจว่า จะต้องระวัง เรื่องที่จะไม่ให้เอาความฝันอันเกิดจากร่างกายไม่ปกติหรือหัวใจที่พัวพัน อยู่ในสิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นมาเป็นความฝันที่เป็นบุรพนิมิต คือบอกเหตุการณ์ล่วงหน้า
สุดท้าย ตอนที่กำลังเขียนบทความนี้ใกล้วันที่ 16 เห็นบางคนนอนรอฝันแล้วเอามาตีเป็นตัวเลข คิดมั้ยว่าชีวิตคนธรรมดาวันวันก็ยุ่งอยู่กับเรื่องต่าง ๆ มากอยู่แล้ว แล้วทำไมไปทำให้มันยุ่งเพิ่มขึ้นอีกละครับ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น