วันอาทิตย์ที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2556

มวยไทย มรดกไทย มรดกโลก




“คนไทยนี้มีพิษสงรอบตัว แม้มือเปล่ายังเอาชนะคนได้ถึงเก้าคนสิบคน นี่หากว่ามีเจ้านายดี มีความสามัคคีกัน ไม่ขัดขากันเอง และไม่เห็นแก่ความสุขส่วนตัว และโคตรตระกูลแล้ว ไฉนเลยกรุงศรีอยุธยาจะเสียทีแก่ข้าศึก ดั่งที่เห็นอยู่ทุกวันนี้”

คำตรัสสรรเสริญ ”นายขนมต้ม” ของพระเจ้ามังระแห่งเมืองพม่าเมื่อทรงได้ทอดพระเนตรชมลีลาแม่ไม้มวยไทยที่สามารถเอาชนะนักมวยพม่า ในงานมหกรรมฉลองพิธียกฉัตรใหญ่พระเจดีย์ชเวดากองขึ้นไว้บนยอดเป็นปฐมฤกษ์ที่เมืองย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2317


มวยไทย ศิลปะและเอกลักษณ์ประจำชาติ เป็นมรดกทางวัฒนธรรมของชาติไทยมาช้านาน ในสมัยโบราณมวยไทยฝึกฝนอยู่ในบรรดาหมู่ทหาร ที่ต้องรบพุ่งกับข้าศึกแบบประชิดตัวโดยอาวุธในสมัยนั้น คือ กระบี่ พลอง ดาบ ง้าว ทวน ฯลฯ เพื่อให้เกิดความได้เปรียบในการต่อสู้แบบประชิดตัว จึงได้ฝึกหัดใช้อวัยวะบางส่วนเข้าช่วยเเวลาต่อสู้ และพัฒนาต่อกลายเป็นศิลปะการต่อสู้แบบมือเปล่าในที่สุด

ดังนั้นการฝึกมวยไทยในสมัยนั้นจึงมีจุดมุ่งหมาย 2 อย่าง คือ
1. เพื่อสู้รบกับข้าศึก
2. เพื่อต่อสู้ป้องกันตัว

การชกมวยไทยในสมัยโบราณเป็นการต่อสู้กันที่น่าตื่นเต้นมากกว่าสมัยนี้ นักมวยสมัยเก่าจะใช้ด้ายดิบเส้นโตขนาดดินสอดำชุบแป้งให้แข็ง พันมือตั้งแต่สันมือตลอดถึงข้อศอก และพันรัดเป็นปมทางด้านหลังของข้อนิ้วมือ (สันหมัด) เป็นรูปก้นหอยที่เรียกว่า “คาดเชือก”


วิชามวย ได้แตกแขนง แบ่งกลุ่ม แบ่งภาค ทั้งท่ารำร่ายไหว้ครู รูปแบบลีลาท่าย่าง ท่าครู แม่ไม้ ลูกไม้ อีกทั้งความชำนาญเรื่อง การจัก สาน ร้อย ทำให้การคาดเชือก ถักหมัด มีรูปแบบเฉพาะตัวอีกมากมาย โดยหลักใหญ่แบ่งได้ตามภูมิภาค คือ

1. ภาคเหนือ มวยท่าเสา มวยเม็งราย มวยเจิง ฯลฯ มวยท่าเสา เป็นมวยเชิงเตะ คล่องแคล่ว ว่องไว ทั้งซ้ายขวา จนได้ฉายา มวยตีนลิง คาดเชือกประมาณครึ่งแขน

2. ภาคอีสาน มวยโคราช มวยหลุม ฯลฯ มวยโคราช ลักษณะการ เตะ ต่อย เป็นวงกว้าง นิยม คาดเชือก ขมวดรอบแขนจนจรดข้อศอก เพื่อใช้รับการเตะ ที่หนักหน่วงรุนแรง

3. ภาคกลาง มวยลพบุรี มวยพระนคร ฯลฯ มวยลพบุรี ลักษณะการชก ต่อย วงใน เข้าออกรวดเร็ว เน้นหมัดตรง การคาดเชือก จึงคาดเพียงประมาณครึ่งแขน

4. ภาคใต้ มวยไชยา ฯลฯ มวยไชยา ลักษณะการรุก-รับ รัดกุม ถนัดการใช้ศอกในระยะประชิดตัว การคาดเชือกจึงนิยมคาดเพียง คลุมรอบข้อมือ เพื่อกันการซ้น หรือเคล็ด เท่านั้น




ผู้ที่ฝึกวิชามวยพอใช้การได้แล้ว ย่อมทำให้เกิดประโยชน์แก่ตน ดังนี้ (คนละส่วนกับการฝึกชกมวยเพื่อเงิน)
๑. มีความมั่นใจในตนเอง
๒. ทำให้เกิดความกล้าหาญ
๓. มีอำนาจบังคับจิตใจดีขึ้น
๔. มีความสุขุมเยือกเย็น ไม่ดีใจเสียใจง่าย
๕. มีความพินิจพิเคราะห์ รู้จักหาเหตุผล
๖. มีความมานะอดทน เพื่อสร้างสมรรถภาพ
๗. มีเชาว์ไว ไหวพริบ ทันเหตุการณ์ปัจจุบันทันด่วน
๘. มีความเข้มแข็งอดทน ไม่ท้อแท้ และจำนนต่อเหตุการณ์ง่าย ๆ
๙. มีความรักสุจริตยุติธรรม โดยประมวลจากหัวข้อข้างต้น

ในปัจจุบัน การแข่งขันมวยไทยเป็นกีฬาอาชีพโดยสิ้นเชิง นักมวยที่มีฝีมือและมีชื่อเสียงมาก่อนไปอาศัยในต่างประเทศ ได้เปิดสอนมวย ไทยในประเทศที่ตนเองไปอาศัยอยู่นั้น ซึ่งได้รับการสนใจเป็นอันมาก เพราะมวยไทยมีวิธีชกแปลก ที่สุดในโลก มีศิลปะการต่อสู้ของชาติต่าง ๆ ได้ขอเข้ามาต่อสู้กับมวยไทย เช่น ยูโด คาราเต้ เทควันโด มวยสากล มวยปล้ำ มวย Kick Boxing, Martrialart ฯลฯ ซึ่งการต่อสู้แต่ละครั้งมวยไทยจะเป็น ฝ่ายได้รับชัยชนะ ทำให้ชาวต่างชาติเห็นว่าการต่อสู้แบบมวยไทย เป็นวิธีการต่อสู้ที่มีพิษสงรอบด้าน จึงพากันสนใจเรียนมวยไทยกันมาก


ในกองทัพไทยเองได้มีการดัดแปลงมวยไทยมาเป็นการต่อสู้แบบใหม่โดยเรียกว่า "เลิศฤทธิ์" เพื่อรักษาไว้ซึ่งการกีฬาประจำชาติอันเป็นศิลปะในการต่อสู้และความภาคภูมิใจของคนไทย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น