วันพุธที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2557

5 องค์ประกอบหลักของธุรกิจที่ควรรู้ สำหรับ ผู้ประกอบการใหม่



การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ส่งผลกระทบต่อการเจริญเติบโตทางธุรกิจ องค์การต้องมีความสามารถปรับตัวและตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง การวางกลยุทธเพื่อใช้บริหารองค์การจึงมีความสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างยิ่ง


วันนี้ WIT จึงขอเสนอ  5 องค์ประกอบหลักในการกำหนดกลยุทธ์ ที่องค์การควรคำนึงถึง สำหรับผู้ที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจ หรือผู้ที่อยากปรับมาตรฐานและยกระดับการบริหารธุรกิจให้เป็นระดับสากลขึ้น ดังนี้


  1. ความสามารถหลักขององค์การหรือความสามารถที่องค์การต้องการจะมี
  2. คำอธิบายความแตกต่างจากคู่แข่งขององค์การ
  3. องค์การอยู่ในอุตสาหกรรมใดหรือกลุ่มอุตสาหกรรมใด
  4. องค์การเตรียมวางแผนในเรื่อง การตลาด  การปฏิบัติการ  ไอที  การเงิน  และการพัฒนาองค์การ ตั้งแต่เริ่มต้น
  5. ประเมินแนวโน้มแผนการเงิน


1. ความสามารถหลักขององค์การหรือความสามารถที่องค์การต้องการจะมี
   ความสามารถหลัก (Core competency) คือ สิ่งที่องค์การสามารถทำได้ดีที่สุด และมีหลักการ 3 ประการได้แก่ 1) ต้องให้ประโยชน์ต่อลูกค้า  2) ยากต่อคู่แข่งที่จะเลียนแบบ และ 3) เป็นความสามารถที่สามารโยกไปสู่สินค้าอื่นๆ หรือตลาดอื่นๆ ได้ดีด้วย
นอกจากนี้ ความสามารถหลักยังมาได้ในหลายรูปแบบด้วยค่ะ เช่น ความสามารถทางเทคนิค  ความเชี่ยวชาญ  กระบวนการที่น่าเชื่อถือ หรือความสัมพันธ์ที่เหนียวแน่นกับลูกค้าและคู่ค้า  รวมทั้งยังรวมไปถึง การพัฒนาผลิตภัณฑ์  หรือวัฒนธรรมองค์กร ได้ด้วย
ตัวอย่างเช่น ซีพีผลิตสินค้าอาหารเกษตรและอาหารสัตว์โดยเฉพาะไก่และกุ้ง  ที่มีกระบวนการเลี้ยงดู ผลิต แปรรูป และการตลาดที่เฉพาะเจาะจง ในราคาไม่แพง ยากที่บริษัทอื่นๆ จะเลียนแบบได้ และมีความสัมพันธ์อันดีต่อทั้งภาคราชการและธุรกิจที่แน่นแฟ้น  หรือ บริษัทแอ๊ปเปิ้ล ที่มีความสามารถหลักในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เทคโนโลยี ที่มีดีไซน์ ใช้งานง่าย และล้ำยุค เช่น คอมพิวเตอร์ McIntosh, IPod, IPhone หรือSouthwest Airline สายการบินต้นทุนต่ำของอเมริกา ที่มีความสามารถหลัก 4 ด้าน ได้แก่ 1) ต้นทุนการจัดการต่อเที่ยวบินที่ต่ำ 2) มีเครือข่ายสนามบินจากจุดหนึ่งไปยังจุดหนึ่งที่ค่าใช้จ่ายการขนถ่ายไม่แพง 3) มีวัฒนธรรมองค์ที่มุ่งให้บริการลูกค้าและการประหยัดต้นทุนเป็นหลัก 4) มีความสามารถในการปล่อยเที่ยวบินได้มากกว่าคู่แข่ง (เครื่องบินอยู่บนอากาศเร็วแค่ไหน ก็มีรายได้เข้ามามากเท่านั้น) เป็นต้น


2. คำอธิบายความแตกต่างจากคู่แข่งขององค์การ
  การสร้างความแตกต่าง (Differentiate) ในความหมายของกลยุทธ์การบริหารจัดการ หมายถึง การเป็นที่หนึ่ง  เป็นผู้นำ  หรือทำอะไรที่ดีที่สุดเหนือกว่าคู่แข่ง  ทำอย่างไรให้ลูกค้าพึงพอใจที่จะเลือกเรามากกว่าคู่แข่ง
  ซึ่งองค์การจะต้องระดมสมองและลองปรึกษากันดูว่า "อะไร" กันแน่ที่จะช่วยให้องค์การสามารถสร้างความแตกต่างได้เหนือกว่า  และอาจจะใช้เวลานานกว่าจะหาเจอนะคะ
ตัวอย่างเช่น  ชาเขียวโออิชิ (โออิชิกรีนที) ที่มีรสชาดหวาน  มีกลิ่นและรูปแบบการดื่ม (เย็น - ไม่ได้ดื่มแบบชาเขียวร้อนทั่วไป) และบรรจุขวดเป็นเจ้าแรกๆ ของประเทศไทย   จักรยานแบบพับได้  ที่สามารถพับใส่ในท้ายรถยนต์ได้ ราคาไม่แพง  สร้างความสะดวกแก่ผู้บริโภคที่ต้องการนำจักรยานไปสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ  หรือ ทัวร์เที่ยวไทยที่รวมการทำฟันมาเป็นจุดเด่นและสร้างความแตกต่างแบบสร้างสรรค์  ขายให้แก่นักท่องเที่ยวชาวญี่ปุ่นและเอเชีย ที่ต้องการมาเที่ยวประเทศไทยและจัดให้นักท่องเที่ยวได้มาทำฟันที่มีคุณภาพดี ราคาประหยัด เป็นต้น


3. องค์การอยู่ในอุตสาหกรรมใดหรือกลุ่มอุตสาหกรรมใด
   องค์การควรจะกำหนดและจำแนกให้ได้ว่า จะจัดตัวเองอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมใด (Industry Intension) เช่น อุตสาหกรรมเครื่องเขียน  กลุ่มอุตสาหกรรมบริการ  ทำเทรนนิ่งและให้คำปรึกษา  อุตสาหกรรมซอฟแวร์และไอที  อุตสาหกรรมรถยนต์ หรือท่องเที่ยว  ซึ่งควรจะจำกัดให้แคบและชัดเจนที่สุด
กลยุทธ์ธุรกิจที่ดีนั้น  หากทราบว่าองค์การจัดอยู่ในธุรกิจ/อุตสาหกรรม/กลุ่มอุตสาหกรรมใดแล้ว  การวางแผนกลยุทธ์ในเวลาต่อมาจะเป็นเรื่องที่ไม่ยากเลย  นอกจากนี้ยังพบว่า องค์การที่มีกลยุทธ์ที่ดี  จะสามารถตอบคำถามได้ทันทีว่าตนเองอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมใด
ตัวอย่างเช่น  องค์การอยู่ในกลุ่มธุรกิจจัดสวน เน้นเฉพาะในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล (กำหนดให้แคบลง)  เมื่อแคบลงเช่นนี้ ต่อมาจะสามารถวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจในเรื่องของ  กลยุทธ์ผู้บริโภค ( เป็น niche มั๊ย, จะเจาะกลุ่มไหน)  กลยุทธ์การตั้งราคา (ตามพื้นที่, ตามดีไซน์, หรืออะไร) กลยุทธ์การวางตำแหน่งองค์การ (รับจัดสวนอย่างเดียว, รับออกแบบอย่างเดียว, รับออกแบบและจัดสวนให้ด้วย, หรืออื่นๆ) เป็นต้น  ดังนั้น ยิ่งกำหนดได้แคบเท่าไหร่  จะช่วยให้สามารถวางแผนในรายละเอียดได้ชัดเจน และทำได้จริงมากขึ้น


4. องค์การเตรียมวางแผนในเรื่อง การตลาด  การปฏิบัติการ  ไอที  การเงิน  และการพัฒนาองค์การ ตั้งแต่เริ่มต้น
  ซึ่งจะช่วยในการวางแผนเผื่ออนาคตไปได้อีกหลายๆ ปี และช่วยในการสร้างเป็นแผนกลยุทธ์และแผนการดำเนินงานโดยละเอียดได้
  การคิดเรื่องนี้ จะช่วยชี้แนะแนวทางการใช้ทรัพยากรและทุน  และการคิดวางแผนในแต่ละด้านอย่างละเอียด(และสามารถทำได้จริง) ก็จะช่วยให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้อย่างมั่นคงท่ามกลางกระแสเศรษฐกิจที่ผันผวนได้เป็นอย่างดี


5. ประเมินแนวโน้มแผนการเงิน ว่าจะวางแผนอย่างไรในอนาคต 3-5 ปีข้างหน้า
  ยิ่งถ้ามีหุ้นส่วนเยอะๆ ก็ยิ่งจำเป็นจะต้องวางแผนการใช้จ่ายเงินทุนให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุดด้วย
  การวางแผนกลยุทธ์ธุรกิจโดยรวม จะต้องคำนึงถึงแผนการเงินประจำปีเอาไว้ด้วย  เพื่อควบคุมการใช้จ่ายให้อยู่ภายในงบประมาณที่กำหนด  ไม่ใช้จ่ายในสิ่งที่ไม่ได้วางแผนเอาไว้ หรือจ่ายฟุ่มเฟือยในเรื่องอื่นๆ ที่ยังไม่จำเป็นต่อธุรกิจในระยะแรก
  ถ้าหากจำเป็นจะต้องมีที่ปรึกษาด้านการเงิน (และบัญชี) ก็ต้องจัดหาบุคคลที่มีความรู้ความสามารถทางด้านนี้โดยตรงที่เข้มงวดและให้คำแนะนำที่ดีได้  หรือจ้างบริษัทที่ปรึกษาทางการเงินมืออาชีพ  เพื่อช่วยให้องค์การสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายได้อย่างโปร่งใส สมดุล และอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

WIT ขออวยพรให้ผู้ประกอบการใหม่ทุกท่านจงประสบความสำเร็จสมความตั้งใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น